ประเด็นร้อน
แนะเข้มก.ม.จัดซื้อจัดจ้าง ปิดทางเรียกรับเงินสินบน
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 07,2017
- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -
เวทีเสวนาต้านคอร์รัปชัน ชี้การป้องกันทุจริตคืบหน้า หลังประเทศมี"ศาลทุจริต" ยกกรณีระบาย"ข้าวจีทูจี"กฎหมายสามารถเอาผิดนักการเมือง-ข้าราชการระดับสูงได้ แนะบังคับใช้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างเข้มงวด เชื่อลดเรียกรับสินบนได้ ฝากรัฐบาลจะส่งไม้ต่อรัฐบาลใหม่อย่างไร ขณะ"ทีดีอาร์ไอ"เสนอสร้างกลไกประชาชนร่วมตรวจสอบ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จัดเสวนาวิชาการเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่น 2560 วันที่ 6ก.ย.2560 ภายใต้หัวข้อรัฐบาลใหม่ คอร์รัปชั่นเก่า โดยนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่าที่ผ่านมาภาครัฐมีการผลักดันที่ประสบความสำเร็จในด้านการปราบทุจริต อาทิ การตั้งศาลทุจริต การตัดสินการระบายข้าวแบบจีทูจีในโครงการรับจำนำข้าว ที่ลงโทษนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงได้
นายประมนต์ กล่าวว่าขอให้การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องช่วยกัน เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่ผ่านมามีการเรียกร้องการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและบังคับใช้อย่างเที่ยงธรรม จึงหวังให้การปฏิรูปตำรวจนั้นมีผลสำเร็จ ลดการใช้ดุลยพินิจเพื่อเรียกรับสินบน ซึ่งเป็นความหวังอย่างหนึ่งว่าการปฏิรูประบบราชการจะทำให้การต่อต้านคอร์รัปชั่นมีผลมากขึ้น นอกจากนี้ ยังฝากความหวังไว้กับการปฏิรูปการศึกษา ที่จะช่วยปลูกฝังเยาวชน
ฝาก3ประเด็นให้รัฐบาลสานต่อ
"ปัจจุบันรัฐบาลได้ปลูกจิตสำนึกโตไปไม่โกงในหลักสูตรการเรียนการสอนของเยาวชนไว้แล้ว ขณะที่ภาคเอกชนมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อลงโทษนักลงทุนที่เอาเปรียบอย่างเข้มข้น หวังว่าเมื่อไม่มีผู้ให้ ก็จะไม่มีผู้รับ ในอนาคตอันใกล้ การเมืองจะมีการปรับเปลี่ยนด้วยการเลือกตั้ง ทำให้เรามีสิ่งที่ต้องมาทบทวนร่วมกันว่า เราจะทำอย่างไรให้ได้ผู้บริหารที่ดีมีคุณภาพ มีรัฐบาลที่เชื่อมั่นในการตรวจสอบโดยใช้หลักธรรมาภิบาลอย่างเข้มข้น"
ทั้งนี้ มี 3 ประเด็นหลักที่ต้องหาคำตอบ คือรัฐบาลจะส่งมอบระบบบริหารที่ดีให้รัฐบาลใหม่ได้อย่างไร ยุทธศาสตร์ 20 ปี รวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปที่ตั้งขึ้นมาจะมีความเหมาะสมและจะมีบทบาทอย่างไร ขณะที่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปราบโกง จะทำให้ได้รัฐบาลที่ดีแค่ไหน และประชาชนควรมีบทบาทอย่างไร ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น
ถามคสช.ทหารมีทุจริตหรือไม่
จากนั้นเข้าสู่เวทีเสวนาในหัวข้อ "รัฐบาลใหม่ คอร์รัปชันเก่า" โดยนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวว่าส่วนตัวยังไม่เห็นว่ามีตัวชี้วัดใดที่ทำให้เห็นว่าการคอร์รัปชันลดลง หลังจากการยึดอำนาจในปี 2557 อัตราการจ่ายสินบนลดลง อาจเพราะกลุ่มที่หาผลประโยชน์ชะงักเพื่อดูท่าทีของ คสช. แต่เมื่อเห็นว่า คสช.ไม่เอาจริง กลุ่มดังกล่าวก็จะหาช่องทาง และเริ่มกระบวนการใหม่ สินบนที่เห็นว่าลดลงก็เริ่มกลับมาอยู่ในอัตราเดิม
นอกจากนี้การใช้มาตรา 44 ในการโยกย้ายและพักงานข้าราชการกว่า 300 คนเพื่อสอบทุจริต แต่กลับไม่มีคนที่ใส่เครื่องแบบสีเขียวแม้แต่คนเดียว จึงสงสัยว่าทหารไม่คอร์รัปชั่นเลยใช่หรือไม่ บางรายมีการสอบสวนแบบเงียบ ๆ ส่วนที่ลงโทษก็ไม่มีใครรู้ว่าลงโทษอะไร เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของสังคม
แนะเข้มใช้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง
ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าขณะนี้ทุกคนเริ่มตื่นตัวและสนใจการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้น เช่น อินเดีย ก่อนหน้านี้มีปัญหาคอร์รัปชันสูง แต่ปัจจุบันกล้าทำอะไรต่าง ๆ มากขึ้น ใช้ระบบเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย ทำให้ปัญหาลดลงไป ในขณะที่ประเทศไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ส่วนตัวเห็นว่า สิ่งที่ควรปรับปรุงเป็นลำดับแรกคือระบบราชการ เพราะระบบราชการเองก็ยอมรับว่าตัวเองยังอยู่ในลำดับที่ 0.4 หรือ -4 เท่านั้น
ขณะเดียวกันเห็นด้วยกับการปฏิรูปกฎหมาย เพราะหากยิ่งมีกฎหมายมาก ก็อาจมีคนหาช่องทางเรียกรับสินบนมากขึ้นได้ สิ่งที่ภาคเอกชนอยากจะฝาก คือการมีส่วนร่วมและการตื่นตัวของภาคส่วนต่าง ๆ เชื่อว่าหากบังคับใช้พระราชบัญญัติการจัดซื้อการจัดจ้างได้ถูกต้อง ก็จะลดเรื่องการรับสินบนได้
คนไทยทุจริตจนเป็นความเคยชิน
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)มองว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเห็นได้เมื่อไหร่ยังไม่ทราบ แต่คอร์รัปชั่นจะเกิดขึ้นใหม่ไปเรื่อย ๆ ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงกันถึงดัชนีชีวัดความโปร่งใส ที่ผ่านมาบทบาทรัฐเข้าไปทำกิจกรรมไม่ควรทำ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จึงทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง
นายภัทระ คำพิทักษ์ ?กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่าคุณสมบัติของ ส.ส. หากทุจริตคอร์รัปชัน จะกลับเข้ามาสู่การเลือกตั้งไม่มได้ เหมือนกับพระปาราชิก ดังนั้นหากทุจริตไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญติญัติ คณะรัฐมนตรีครม ถ้าเอื้อประโยชน์ในการทำงบประมาณ หรือใครรู้เห็นเป็นใจ เรื่องนี้จะมีอายุความถึง 20 ปี
นายนิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดัง กล่าวว่า การคอร์รัปชันขึ้นอยู่กับสำนึกของคน แต่การคอร์รัปชันเกิดจากสินน้ำใจ กลายเป็นสินบน ซึ่งเป็นเรื่องคาบเกี่ยวกันจนติดเป็นนิสัย หลายคนทำผิดไปโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งผิด อย่างเช่นการณรงค์เรื่องทิ้งขยะ ถือว่าประสบความสำเร็จ ทำให้คนทิ้งขยะละอายที่ทำแบบนั้น
"คิดว่าการทุจริตหรือการคอร์รัปชัน ในทุกประเทศเป็นคดีเหมือนการขโมยของ แต่ประเทศไทยกลับบอกว่าพอรับได้"
แนะปชช.ร่วมตรวจสอบทุจริต
ขณะเดียวกันมีการนำเสนอรายงานสรุปสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยโดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะเน้นการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันจากบนลงล่างคือตั้งหน่วยงานรัฐขึ้นมา ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน่วยงานองค์กรอิสระแต่ไม่เคยคิดค้นวิธีการที่ดีกว่าที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปราบคอร์รัปชัน
ในส่วนการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะนั้นก็พบว่าพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารก็มีปัญหาเยอะ ยังไม่มีการปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ ทำให้ประชาชนไม่สามารถได้รับข้อมูล ถ้าประชาชนได้รับข้อมูลก็จะช่วยตรวจสอบได้
เรื่องต่อมาคือกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งกระบวนการทางนโยบาย กระบวนการออกกฎหมาย กระบวนการตัดสินใจทางนโยบาย ตอนนี้จะไปเกี่ยวข้องเฉพาะฝ่ายการเงินและข้าราชการประจำ ภาคประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ยังไม่มีบทบาทเข้าไปมีส่วนร่วมเท่าที่ควร
ปัญหาสำคัญที่ทำให้รัฐไม่สามารถปราบทุจริตคอร์รัปชั่นได้ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลเน้นการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบ แต่สุดท้ายแล้วหน่วยงานเหล่านี้มีข้อจำกัดมากซึ่งยังมีการทำงานเหมือนกับในระบบราชการมีความล่าช้า ไม่คล่องตัวที่จะไปจับขโมยได้ อีกทั้งยังติดกระบวนการของรัฐที่ทำงานแบบต่างคนต่างทำและประสานงานไม่ค่อยดี
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน